การสูญเสียบุตรก่อนวัยอันควรทำให้บิดามารดามีความเศร้าโศกผิดปกติ สถิติเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลเฉลี่ยปีละ 60 คน(ร้อยละ 10.82) ในปี 2560-2562 ที่ผ่านมาพยาบาลมีการให้ความรู้และคำปรึกษาเพื่อป้องกันความเศร้าโศก จากการสำรวจบิดามารดาที่สูญเสียบุตร พบว่ายังมีความเศร้าโศกปานกลาง ร้อยละ 59.2 ซึมเศร้าต้องเข้ารับการรักษาร้อยละ3 จากการทบทวนงานวิจัยพบว่าการดูแลและให้คำปรึกษาต่อเนื่อง 6 เดือน โดยใช้หลัก worden's four task of mourning เพื่อเบิกทางให้เข้าใจกระบวนการเศร้าโศกและการเยียวยาทำให้บิดามารดาก้าวผ่านความเศร้าโศกในระยะเฉียบพลันหลังการสูญเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้วิจัยจึงได้พัฒนาโปรแกรมฯภายใต้กรอบแนวคิดความเศร้าโศก 5 ระยะของคูเบอร์ลอส ทฤษฏีผูกพันต่อเนื่องและโมเดลการให้ความรู้ ชี้แนะและการสนับสนุนการดูแลความเศร้าโศกเพื่อป้องกันอารมณ์เศร้าโศกผิดปกติในบิดามารดาที่สูญเสียบุตรได้
วัตถุประสงค์หลัก เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการดูแลความเศร้าโศกต่อการป้องกันอารมณ์เศร้าโศกผิดปกติในบิดามารดาที่สูญเสียบุตรจากการเจ็บป่วย
วิจัยกึ่งทดลอง คำนวณกลุ่มตัวอย่างได้กลุ่มละ 14 ราย เลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์คัดเข้าเป็นบิดาหรือมารดาที่มีบุตรเจ็บป่วยอายุต่ำกว่า18ปี เสี่ยงต่อความเศร้าโศกปานกลางถึงมาก หลังผ่านจริยธรรมวิจัย เก็บข้อมูลกลุ่มควบคุมก่อนให้การพยาบาลตามปกติ กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมฯ 5ครั้งๆละ 30 นาที ครั้งที่ 1 เริ่มให้การดูแลก่อนบุตรเสียชีวิต ให้ความรู้และมอบคู่มือฯปฏิบัติตัวปฏิบัติใจและกล่องความทรงจำ ครั้งที่2 ให้คำปรึกษาวิดิโอคอล เขียนจดหมาย และการ์ดแสดงความเสียใจ ครั้งที่3และครั้งที่4 ให้คำปรึกษาหลังบุตรเสียชีวิตใช้วิดิโอคอลเพื่อช่วยผู้สูญเสียเข้าใจ เรียนรู้วิธีการเยียวยา การอยู่กับความเจ็บปวด ปรับตัวใช้ชีวิตโดยปราศจากลูก คงไว้ซึ่งใจเชื่อมใจและมีชีวิตใหม่ได้ ครั้งที่ 5 ติดตามให้คำปรึกษาหลังบุตรเสียชีวิต 6 เดือน ประเมินผลสองกลุ่มโดยใช้แบบประเมินอารมณ์เศร้าโศกผิดปกติ วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติ Mann-Whitney U Test
ลักษณะทั่วไปของกลุ่มควบคุมและทดลองคล้ายคลึงกัน เป็นเพศหญิง (92.85%, 92.85%) อายุเฉลี่ย (32.42ปี , 36.8ปี) สถานภาพสมรสคู่ (78.57% ,85.71%) ข้อมูลบุตรที่เสียชีวิต วินิจฉัยเป็นมะเร็ง(21.4%,0%)และไม่ใช่มะเร็ง(78.6%,100%) สถานที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล(50%,57.1%) และที่บ้าน (42.8%, 21.1%) ระหว่างศึกษากลุ่มตัวอย่างเข้าเกณฑ์การถอนออกจากการวิจัย กลุ่มควบคุมเหลือ 13 รายและกลุ่มทดลองเหลือ 11 ราย ผลวิจัยพบว่า ค่ามัธยฐานของคะแนนอารมณ์เศร้าโศกในกลุ่มทดลองน้อยกว่าค่ามัธยฐานของคะแนนในกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่ามัธยฐานเป็น 6 และ 23 คะแนนตามลำดับ (Mann-Whitney U Test=32.5, p-value<.05) ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าโปรแกรมการดูแลความเศร้าโศกมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันอารมณ์เศร้าโศกผิดปกติในบิดามารดาที่สูญเสียบุตรจากการเจ็บป่วยได้
โปรแกรมฯที่พัฒนาขึ้น พยาบาลได้นำนวัตกรรมไปใช้ในการดูแลบิดามารดาที่สูญเสียบุตรทั้งภายใน รพและรพ เครือข่าย ได้แก่ คู่มือฯ คำแนะนำวิธีจัดการหลังบุตรเสียชีวิต กล่องmemory box, Templateจดหมายและการ์ดแสดงความเสียใจและแนวทางให้คำปรึกษา ผลงานวิจัยได้นำเสนอในที่ประชุมคุณภาพใน รพและสมาคมพยาบาลสาขาภาคฯและจะไปนำเสนอระดับนานาชาติ ICN Congress 2023 Canada บทความวิจัยตีพิมพ์ วารสารพยาบาลศาสตร์ฯประจำเดือน มี.ค.66
ได้โปรแกรมฯในการดูแลบิดามารดาที่สูญเสียบุตรจากความเจ็บป่วยครอบคลุมทุกมิติ มีการฝึกสมรรถนะให้พยาบาลสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ในการดูแลภายใน รพ อย่างเป็นระบบ รวมทั้งอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับพยาบาลเครือข่ายได้นำโปรแกรมฯไปใช้อย่างถูกวิธี ทำให้ป้องกันอารมณ์เศร้าโศกผิดปกติและป้องกันภาวะซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความสำเร็จเกิดขึ้นจากการที่ทีมสหสาขาวิชาชีพมองเห็นปัญหาหน้างานและมีความตระหนัก ร่วมกันค้นคว้าพัฒนาโปรแกรมฯและนวัตกรรมการดูแลบิดาหรือมารดาที่มีบุตรเจ็บป่วย สามารถดำเนินการวิจัยวิจัยจนประสบผลสำเร็จ มีการนำผลวิจัยไปใช้เกิดจากความร่วมมือของผู้บริหารพยาบาล รวมทั้งทีมแพทย์ พยาบาลและบุคลากรในหอผู้ป่วยเด็ก สามารถยกระดับผลลัพธ์ทางการพยาบาลได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน
ไม่เป็น
วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สมาคมพยาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงแรมฟอร์จูน จ.นครพนม 2565
Bronze Award ด้านการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย คณะแพทยศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2565