ปี2559 รัฐบาลได้สนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อดำเนินกิจกรรมที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ในชุมชนที่ดีขึ้น อำเภอประโคนชัยมี 24 หมู่บ้าน ที่ประสงค์จะตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่มในชุมชนโดยใช้งบประมาณจากโครงการประชารัฐ น้ำดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ได้คุณภาพตามที่กฎหมายกำหนดและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยใช้หลักการของ GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์เข้ามาเป็นหลักเกณฑ์บังคับทางกฎหมาย ผู้ประกอบการผลิตน้ำบริโภคตามโครงการประชารัฐทุกรายล้วนเป็นชาวบ้านที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการผลิตน้ำบริโภค และไม่ทราบข้อกำหนดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำบริโภค ดังนั้นสถานประกอบการทุกแห่งจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้ผ่านตามมาตรฐานที่กำหนดและเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
เพื่อพัฒนาสถานประกอบการผลิตนํ้าบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทตามโครงการประชารัฐทุกแห่งให้ผ่านมาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice: GMP) และประเมินผลการพัฒนาก่อน-หลัง
เป็นงานวิจัยและพัฒนา กลุ่มตัวอย่างคือสถานประกอบการผลิตนํ้าบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทตามโครงการประชารัฐ ในอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ทุกแห่งจำนวน 24 ราย ระยะเวลาตั้งแต่ตุลาคม 2559–กันยายน 2561 การพัฒนาโดยสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการทุกราย ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนและออกเยี่ยมสถานประกอบการทุกแห่ง ประเมินปัญหาที่พบก่อนการพัฒนา พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ช่วยจัดทำเอกสาร สนับสนุนป้ายและสื่อรูปแบบต่างๆให้กับทุกสถานประกอบการ ให้ข้อมูลแหล่งจัดซื้อชุดทดสอบและอุปกรณ์ต่างๆ ประสานพูดคุยกับผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อให้การก่อสร้างอาคารได้มาตรฐาน จัดระบบให้คำปรึกษาและพัฒนาระบบการขออนุญาตให้สะดวก ตรวจประเมินสถานที่ผลิตอย่างต่อเนื่อง เครื่องมือที่ใช้คือแบบบันทึกการตรวจสถานที่ผลิตน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ตส.3) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา
ผลการประเมินสถานที่ผลิตก่อนการพัฒนา ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2559 พบว่า ไม่มีสถานที่ผลิตใดผ่านมาตรฐาน GMP พบข้อบกพร่องสำคัญ(Major Defect) ในสถานที่ผลิตทั้ง 24 ราย(ร้อยละ 100) มีคะแนนเฉลี่ยทุกหมวดร้อยละ 32.19 หมวดที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุดคือหมวดที่ 9 บันทึกและรายงาน หมวดที่คะแนนเฉลี่ยมากที่สุดคือหมวดที่ 2 เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์การผลิต ผลการประเมินภายหลังการพัฒนาในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2561 พบว่าสถานประกอบการมีคะแนนผลการประเมินเพิ่มมากขึ้น โดยมีสถานประกอบการผ่านมาตรฐาน GMP มีผลการตรวจวิเคราะห์น้ำผ่านมาตรฐาน และได้รับใบอนุญาตจำนวน 16 ราย (ร้อยละ 66.67) มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 73.07 หมวดที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุดคือหมวดที่ 9 บันทึกและรายงาน หมวดที่คะแนนเฉลี่ยมากที่สุดคือหมวดที่ 6 การบรรจุ หมวดที่มีผลการพัฒนาดีขึ้นมากที่สุดคือหมวดที่ 5 สารทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ
จากการวิจัยดังกล่าว ทำให้ได้รูปแบบของการพัฒนาสถานประกอบการ โดยเฉพาะสถานประกอบการของชุมชนที่เกิดขึ้นตามโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างจากสถานประกอบการเอกชนทั่วไป รวมถึงการปรับรูปแบบการให้บริการด้านการขออนุญาตแก่ประชาชน ให้สามารถเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และได้รับการยอมรับจากประชาชนและภาคีเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ รูปแบบนี้สามารถนำไปใช้กับการพัฒนาสถานประกอบการอื่นได้ต่อไป
การพัฒนาสถานประกอบการตามโครงการของรัฐ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวง ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องมาตรฐานและแนวทางการอนุญาตผลิตภัณฑ์ เพื่อให้การพัฒนาของทุกหน่วยงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน การพัฒนาสถานประกอบการระดับชุมชนเป็นเรื่องยาก แต่การรักษามาตรฐานและการประกอบกิจการอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า
การพัฒนาดังกล่าว สำเร็จด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กระบวนการพัฒนาที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งปัจจัยนำคือพัฒนาความรู้ ทัศนคติของผู้ประกอบการ ปัจจัยเอื้อคือการสนับสนุนอุปกรณ์ หาแหล่งจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆให้ ช่วยประสานพูดคุยกับผู้รับเหมา ปรับระบบการอนุญาตให้สะดวกรวดเร็ว และปัจจัยเสริมคือการให้กำลังใจ สนับสนุนการทำธุรกิจ การบังคับใช้กฎหมาย และความเข้มแข็งของกรรมการที่ดำเนินงานแต่ละราย
ไม่เป็น
ไม่เคย
วิชาการสาธารณสุขเขต9 จ.บุรีรัมย์ 2562
ผลงานวิชาการดีเด่น สาขาคุ้มครองผู้บริโภค เขต9 2562