pre-loader image
ปิด

รายละเอียดผลงานวิจัย R2R

ผลของการใช้หนังสือการ์ตูนต่อความกลัวการได้รับยาพ่นแบบฝอยละอองในผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียน

งานวิจัยปี

2561

คำสำคัญ

การประเมิน ปอด ระบบทางเดินหายใจ ระบบหายใจ หน้า หลอดลม โรคระบบทางเดินหายใจ

ประเภทผลงานวิจัย

ประเภท ตติยภูมิ

ระดับของการนำไปใช้

ระดับที่ 5 นำไปใช้หลายจังหวัด,ทั้งภูมิภาค ทั้งประเทศแล้ว

ประเด็นวิจัยหลัก

การรักษาวินิจฉัยโรค

ประเด็นย่อย

กลุ่มเป้าหมาย

ที่มา

เด็กวัยก่อนเรียนที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลจะเกิดความวิตกกังวลจากการแยกจาก กลัวถูกทอดทิ้ง และมีข้อจำกัดในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาของระบบหายใจ แพทย์จะให้การรักษาด้วยการใช้ยาพ่นแบบฝอยละออง ส่วนใหญ่เด็กจะแสดงความกลัวโดยมีอาการขัดขืน ร้องไห้ ส่ายหน้าไปมา มีผลทำให้หน้ากากออกซิเจนไม่ได้ชิดกับหน้า ทำให้ปริมาณละอองยาเข้าสู่ปอดลดลง อาจทำให้อาการไม่ดีขึ้นหรือต้องเพิ่มขนาดยา การลดความกลัวในผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียนมีหลายวิธี เช่น การให้ข้อมูลโดยผ่านสื่อวีดิทัศน์ การเล่านิทาน การเล่นบทบาทสมมติ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารักษาในโรงพยาบาล ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะให้ข้อมูลประกอบภาพการ์ตูน ทำเป็นหนังสือการ์ตูนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เกี่ยวกับการใช้ยาพ่นแบบฝอยละออง เพื่อลดความกลัวในผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียนที่ได้รับการรักษาด้วยการใช้ยาพ่นแบบฝอยละออง

วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาผลของการใช้หนังสือการ์ตูนต่อความกลัวการได้รับยาพ่นแบบฝอยละอองในผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียน

ระเบียบวิธีวิจัย

การศึกษาแบบกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลัง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียน อายุ 3-6 ปี จำนวน 24 คน ที่ได้รับการรักษาด้วยยาพ่นแบบฝอยละออง ในโรงพยาบาลตติยภูมิแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร สุ่มเข้ากลุ่มควบคุมจำนวน 12 คน และกลุ่มทดลองจำนวน 12 คน กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติขณะได้รับยาพ่นแบบฝอยละออง กลุ่มทดลองได้รับการดูแลตามปกติขณะได้รับยาพ่นแบบฝอยละอองร่วมกับได้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยหนังสือการ์ตูน เรื่อง “หนูไก่กับยาพ่นวิเศษ”ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น รวบรวมข้อมูลโดยใช้ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสังเกตพฤติกรรมความกลัวต่อการได้รับยาพ่นแบบฝอยละอองของผ้ปู่วยเด็กวัยก่อนเรียน และ 3)แบบประเมินความกลัวการได้รับยาพ่นแบบฝอยละออง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา, Fisher Exact test, Student t-test, Mann-Whitney U test และ Wilcoxon Signed Ranks test

ผลการศึกษา

กลุ่มทดลองมีคะแนนพฤติกรรมความกลัวต่อการได้รับยาพ่นแบบฝอยละอองในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 100 และร้อยละ 75 ตามลำดับ คะแนนการประเมินความกลัวต่อการได้รับยาพ่นแบบฝอยละอองในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 อยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 91.7 และร้อยละ 75 ตามลำดับ กลุ่มควบคุมมีคะแนนพฤติกรรมความกลัวต่อการได้รับ ยาพ่นแบบฝอยละอองในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 อยู่ในระดับมากร้อยละ 66.7 และร้อยละ 41.7 ตามลำดับ คะแนนการประเมินความกลัวต่อการได้รับยาพ่นแบบฝอยละอองในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 83.3 และร้อยละ 66.7 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมความกลัวซึ่งประเมินโดยผู้วิจัยและการประเมินความกลัวซึ่งประเมินโดยผู้ป่วยเด็กระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมในครั้งที่ 1และครั้งที่ 2 พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p<.001)

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ

หน่วยงาน และพยาบาลหอผู้ป่วยเด็กอื่นๆในโรงพยาบาลได้นำหนังสือการ์ตูนเรื่อง "หนูไก่กับยาพ่นวิเศษ"ไปใช้ในการเตรียมความพร้อมผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และได้รับการรักษาด้วยยาพ่นแบบฝอยละออง ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเด็กลดความกลัวต่อการได้รับยาพ่นแบบฝอยละอองและให้ความร่วมมือกับการรักษาเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการขยายผลการใช้ไปยังโรงพยาบาลโพธาราม โรงพยาบาลสระบุรี

บทเรียนที่ได้รับ

หนังสือการ์ตูนเรื่อง "หนูไก่กับยาพ่นวิเศษ" สามารถช่วยลดความกลัวและสร้างความร่วมมือในการรักษาพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียนได้รับประสบการณ์ที่ดีในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งส่งผลต่อการรักษาด้วยการพ่นยาครั้งต่อๆไปในอนาคต นอกจากนี้การทำงานวิจัยจากปัญหาที่พบในงานประจำ เป็นการสร้างคุณค่าทั้งต่อตัวผู้วิจัยเองและต่อวิชาชีพการพยาบาล

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ความมุ่งมั่นในการคิดแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติงาน ความร่วมมือ ความสม่ำเสมอของทีมวิจัย และบุคลากรในหอผู้ป่วย มีส่วนทำให้งานวิจัยประสบความสำเร็จ เกิดการดูแลผู้ป่วยเด็กแบบองค์รวม โดยยึดหลักการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลาง

Keywords

  • ความกลัว หนังสือการ์ตูน ผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียน ยาพ่นแบบฝอยละออง

เกี่ยวกับโรค

โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินหายใจที่ได้รับยาพ่นแบบฝอยละอองเพื่อขยายหลอดลม

เป็นสิ่งประดิษฐ์

หนังสือการ์ตูนเรื่อง "หนูไก่กับยาพ่นวิเศษ"

เคยได้รับการตีพิมพ์

Journal of Nursing Science, 2017 ปีที่ 35 ฉบับที่ 3 หน้า14-24

เคยได้รับการเผยแพร่มาก่อน

งานประชุมวิชาการกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย จังหวัดกรุงเทพมหานคร 2560

รางวัลที่ได้รับ

ไม่เคย

ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล

นักวิจัย
ที่ปรึกษา
คุณอำนวย

ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร

จังหวัด
กรุงเทพมหานคร
เครือข่าย R2R
กรุงเทพมหานคร
เขตสุขภาพ
เขตที่ 13
ภูมิภาค
ภาคกลาง

ข้อมูลอื่น ๆ

การสนับสนุน
การสนับสนุนทั่วไป
  • ไม่ได้รับการสนับสนุน/ไม่มีข้อมูล
การสนับสนุนจากแหล่งทุนสนับสนุน
  • ทุนพัฒนาการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บริหารจัดการโดยหน่วย R2R: 49000 บาท
เผยแพร่เมื่อ
2561
งานวิจัยนี้ส่งโดย
นักวิจัยส่งเอง
นำเข้าโดย
เครือข่าย R2R ประเทศไทย